ต้อกระจก เป็นปัญหาทางสายตา ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้สูงอายุ แต่บางกรณีอาจเกิดกับคนอายุ 40 ปีขึ้นไปได้ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาจเป็นต้อกระจกได้เร็วกว่าคนสุขภาพปกติ
Contents
ต้อกระจก คืออะไรและเกิดจากอะไร
ต้อกระจก คือ อาการมัวของตาซึ่งเกิดจากความขุ่นของเลนส์ในดวงตา เป็นภาวะเสื่อมของลูกตาซึ่งเกิดขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นเลนส์แก้วตาเริ่มเสื่อม ทำให้มองเห็นภาพและอ่านหนังสือไม่ชัด การที่เลนส์แก้วตาเสื่อม ขุ่น ทำให้แสงผ่านเลนส์เข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลง หรือ อาจเกิดการหักเหของแสงที่ผิดปกติไปโฟกัสผิดที่
อาการของต้อกระจก
อาการที่ชัดที่สุดคือ ตาจะเร่ิมค่อยๆ มัวลงๆ อย่างช้าๆ เหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง เร่ิมมองเห็นไม่ชัด สิ่งที่เคยมองเห็นได้ชัดก็จะเห็นไม่ชัด แต่จะไม่มีอาการอื่น เช่น อาการเจ็บปวด หรือ ตาแดงร่วมด้วยแต่อย่างใด อาการตามัวจะยิ่งเป็นมากขึ้นเมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงจ้า สายตาจะพร่า สู้แสงไม่ได้ แต่ในทางกลับกัน จะสามารถเห็นภาพชัดขึ้นได้เมื่ออยู่ในที่มืด
การรักษา ทำได้ด้วยวิธีใดได้บ้าง
ในปัจจุบัน การรักษาต้อกระจกสามารถทำได้ 2 วิธี
1. การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ (Phacoemulsification) และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปทดแทนของเก่า แผลที่เกิดจากการรักษาวิธีนี้จะมีขนาดเล็กมาก ประมาณเพียง 2.6-3.0 ม.ม.เท่านั้น
2. การรักษาแบบผ่าตัดเล็ก แบบดั้งเดิม โดยแพทย์จะผ่าเอาเลนส์ที่เสียออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมของใหม่เข้าไปทดแทนของเก่า
เลนส์ตาเทียม (Intraocular Lens) มีกี่ชนิด อะไรบ้าง
1. เลนส์เทียมแบบโฟกัสเดียว ไม่แก้สายตาเอียง – เป็นเลนส์แบบมาตรฐาน ส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้ระบุอะไร แพทย์จะใส่เลนส์รุ่นนี้ให้ เลนส์รุ่นนี้จะทำให้มองไกลชัด แต่มองใกล้จะไม่ชัด ต้องใส่แว่นตาช่วย
2. เลนส์เทียมแบบโฟกัสเดียว และแก้สายตาเอียง – เป็นเลนส์แบบแก้สายตาเอียง มองไกลได้ชัด แต่ระยะใกล้ไม่ชัด ต้องใส่แว่นตาช่วย
3. เลนส์เทียมชนิดหลายโฟกัส ไม่แก้สายตาเอียง- เป็นเลนส์แบบชัดทั้งไกลและใกล้
4. เลนส์เทียมชนิดหลายโฟกัส และแก้สายตาเอียง – เป็นเลนส์สำหรับคนสายตาเอียงที่ต้องการมองได้ชัดทั้งใกล้และไกล
การเตรียมตัวก่อนการเข้าผ่าตัดต้อกระจก
วันผ่าตัด แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยทั่วๆไป เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ฯลฯ เพื่อดูว่ามีโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอื่นที่จะเป็นอุปสรรคในการผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งถ้าแพทย์ตรวจพบโรคที่จะเป็นอุปสรรคต่างๆที่กล่าวมาแล้ว แพทย์จำเป็นต้องงดการผ่าตัดไปสักระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถคุมโรคดังกล่าวให้ดีขึ้นก่อนที่จะทำการผ่าตัดได้อีก
หลังผ่าตัดต้อกระจก ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดต้อกระจก
1. เพื่อป้องการระคายเคืองตา แพทย์จึงต้องใส่เครื่องป้องการการขยี้ตาไว้ก่อน ห้ามถอดเครื่องป้องกันจนกว่าแพทย์จะอนุญาติให้เอาออกได้
2. หลังจากกลับบ้านแล้ว ควรพักผ่อนให้มากๆ และควรจะนอนหงาย ห้ามนอนคว่ำหน้า หรือนอนตะแคง โดยเฉพาะนอนตะแคงทับตาข้างที่ทำการผ่าตัด
3. การแปรงฟัน ไม่ควรแปรงฟันแบบสั่นศีรษะไปมา ควรค่อยๆ แปรง
4. อาบน้ำและสระผมได้ตามปกติ แต่ให้ระมัดระวังน้ำเข้าตาในระหว่างอาบน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และอย่าก้มหน้ามากนัก (การสระผม ควรต้องนอนให้ผู้อื่นสระให้)
5. ควรหาแว่นตากันแดดมาสวมใส่เมื่อออกนอกบ้าน
6. รับประทานอาหารอ่อนๆ เคี้ยวง่ายๆ สักพัก
7. หยอดยาตาและรับประทานยาตามแพทย์สั่ง
8. มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
หลังผ่าตัด เมื่อมีอาการแบบไหนควรที่จะรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว
1. มีอาการเคืองตามากผิดปกติ
2. มีอาการปวดตามากตลอดเวลา ตาแดง ขี้ตามากผิดปกติ หนังตาบวม ตามัวลงกว่าเดิมมาก
3. มองเห็นภาพบิดเบี้ยง หรือ เห็นเหมือนมีอะไรบางอย่างลอยไปลอยมาในตา